บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การพัฒนาการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD เรื่อง เซต สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์
ผู้ศึกษา นางพรพิมล พาณิชย์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนเมืองสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ปีที่ศึกษา พ.ศ. 2562
รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ ดัชนีประสิทธิผล เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ศึกษาพัฒนาการหลังการเรียนรู้รายบุคคลและกระบวนการกลุ่ม และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD เรื่อง เซต สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนโรงเรียนเมืองสมเด็จ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 39 คน ด้วยวิธีการสุ่มแบบเป็นกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ (1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD จำนวน 18 แผน เวลาเรียน 18 ชั่วโมง (ไม่รวมแผนปฐมนิเทศและปัจฉิมนิเทศ) (2) แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ จำนวน
6 เล่ม (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ และ (3) แบบสอบถามความพึงพอใจนักเรียน จำนวน 30 ข้อ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ ค่าดัชนีประสิทธิผล และทดสอบค่า t (Dependent samples)
ผลการศึกษาปรากฏ ดังนี้
- การเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง เซต มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.30/84.87 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
- การเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์เรื่อง เซต มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 75.11 ตรงตามเกณฑ์ 70 หรืออยู่ในระดับดี แสดงว่า
นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 75.11 - นักเรียนที่ได้รับการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เซต มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
- นักเรียนที่ได้รับการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เซต มีพัฒนาการเรียนรู้รายบุคคลอยู่ในระดับดี และพัฒนาการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม อยู่ในระดับดีเด่น
- นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD โดยใช้
แบบฝึกเสริมทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง เซต โดยภาพรวมและรายด้านทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับ
มากที่สุด รายด้านเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ ด้านบทบาทนักเรียน ด้านการวัดและประเมินผล ด้านบทบาทครูผู้สอน และด้านกิจกรรมการเรียนการสอน