การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PRAGE MODEL เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

16/08/2019 เข้าชมแล้ว : 7740

kanlaya1


ชื่อเรื่อง
      การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ  PRAGE  MODEL  เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  
ผู้ศึกษา      นางกัลยา   เจาะจง
ตำแหน่ง     ครู  วิทยฐานะ  ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียน     โรงเรียนเมืองสมเด็จ  อำเภอสมเด็จ   จังหวัดกาฬสินธุ์ 
                   สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์

ปีที่ศึกษา     2561

 

บทคัดย่อ

      การวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์  ที่เป็นเงื่อนไขในการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PRAGE  MODEL  เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์  2) พัฒนาและหาคุณภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PRAGE MODEL  3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PRAGE  MODEL  4) ประเมินรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ  PRAGE  MODEL  ดังนี้ 4.1)  ศึกษาประสิทธิภาพและดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ  PRAGE  MODEL  4.2)  เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ PRAGE  MODEL 4.3)  เปรียบเทียบความแตกต่างด้านทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ PRAGE  MODEL และ4.4)  ศึกษาความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ PRAGE MODEL กลุ่มตัวอย่างสำหรับใช้ในการประเมินรูปแบบ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3/1 ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา 2561  โรงเรียนเมืองสมเด็จ จำนวน  30  คน  ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ  PRAGE  MODEL  กลุ่มสาระการเรียนรูคณิตศาสตร์  เรื่อง  อสมการ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  จำนวน  12  แผน  2)  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน  30 ข้อ  มีค่าอำนาจจำแนก (B)  ตั้งแต่  0.28 ถึง 0.72  ,ค่าความยาก  (P)  ตั้งแต่  0.44  ถึง  0.69  และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.70  3) แบบทดสอบวัดทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ จำนวน  30 ข้อ  มีค่าอำนาจจำแนก(B)  ตั้งแต่  0.26 ถึง 0.70  ,ค่าความยาก  (P)  ตั้งแต่  0.34  ถึง  0.78  และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.72  และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 15 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล  ได้แก่ ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และการทดสอบสมมุติฐานใช้ t-test  (Dependent  Samples)  และการนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการพรรณนาวิเคราะห์

ผลการวิจัยพบว่า

  1. การศึกษาสภาพและปัญหาด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ที่เป็นเงื่อนไขในการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PRAGE MODEL เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  พบว่า ครูควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนใหม่ ควรมีการจัดหานวัตกรรมที่แปลกใหม่ และส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ มีทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่ครบทั้ง 5 ทักษะ  นอกจากนี้ครูผู้สอนควรจะส่งเสริม  สนับสนุนให้นักเรียนได้ฝึกคิด  ฝึกปฏิบัติและหาคำตอบโดยใช้วิธีการที่หลากหลาย คอยกระตุ้นและเสริมแรงให้นักเรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น  คิดหาคำตอบด้วยตนเอง  เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์ให้นักเรียนต่อไป
  2. การพัฒนาและหาคุณภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PRAGE MODEL  เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PRAGE  MODEL  ประกอบด้วยขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้  1) ขั้นนำเสนอปัญหา (P : Presenting Problem)   2) ขั้นแสดงเหตุผลในการแก้ปัญหา (R : Reason for solve Problem)  3)  ขั้นเชื่อมโยงความรู้ (A : Action  and Connect  knowledge)  4)  ขั้นกระบวนการกลุ่ม (G : Group and share)  และ5)  ขั้นสรุปและประเมินผล (E : Evaluation Process)  โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีคุณภาพและความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (x= 4.68, S.D.=0.12 ) 
  3. การทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PRAGE MODEL เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดี  โดยนักเรียนแต่ละคนได้แสดงความสามารถของตนเองให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มได้เห็นทั้งการแสดงความคิดเห็นและการเสนอแนวคิดที่แตกต่างกัน  มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ครูผู้สอนจะคอยสนับสนุนและคอยช่วยเหลือเมื่อนักเรียนเกิดข้อสงสัยหรือมีปัญหา  มีการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทดสอบวัดทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ก่อนเรียน  ในระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครูผู้สอนได้ทำการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในแต่ละชั่วโมง และได้บันทึกผลการสังเกตเอาไว้อย่างเป็นระบบ  เมื่อครูทำการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครบทั้ง 12 แผนแล้วได้ทำการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทดสอบวัดทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์กับนักเรียนอีกครั้ง  เพื่อนำเอาคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนมาเปรียบเทียบกัน  และให้นักเรียนทำแบบสอบถามความพึงพอใจ  เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปสรุปผลการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและประเมินรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
  4. การประเมินรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PRAGE MODEL  เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์   สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3 สรุปผลดังนี้      

          4.1 การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ  PRAGE  MODEL   

               4.1.1 ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ  PRAGE  MODEL  เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า  ประสิทธิภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ  PRAGE  MODEL  กับคะแนนที่ได้จากการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (หลังเรียน)  (E1/E2  ) มีค่าเท่ากับ 81.29/79.33 และประสิทธิภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ  PRAGE  MODEL  กับคะแนนที่ได้จากการทดสอบวัดทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (E1 / E2  ) มีค่าเท่ากับ 81.29/80.67

               4.1.2 ผลการวิเคราะห์ดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ  PRAGE  MODEL  เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 0.6863  ซึ่งแสดงว่านักเรียนมีพัฒนาการทางการเรียนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ  68.63  

               4.1.3 ผลการวิเคราะห์ดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ  PRAGE  MODEL เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์  ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 0.7036  ซึ่งแสดงว่านักเรียนมีพัฒนาการทางด้านทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์  เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 70.36

          4.2  การวิเคราะห์เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียน  พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 

          4.3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างด้านทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียน  พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  มีพัฒนาการทางด้านทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 

          4.4  การวิเคราะห์ความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ PRAGE MODEL  พบว่า  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบ  PRAGE  MODEL  อยู่ในระดับมากที่สุด (x= 4.77, S.D.=0.44 )